Type Here to Get Search Results !

#ข้อควรรู้ #นาฬิกาชีวิต - การนอนผิดเวลาส่งผลต่อสุขภาพชีวิตโดยตรง

0

 

 ครั้งนี้เอาข้อควรรู้มาฝาก เนื่องจากระยะหลัง ส่วนตัวมีการนอนผิดเวลา ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพ แม้ว่าจะมีการออกกำลังกายเป็นระยะ แต่เรื่องการพักผ่อนก็สำคัญไม่น้อยเลยเช่นเดียวกัน การนอนน้อยส่งผลต่อเซลเสื่อมสภาพโดยตรง แก่ก่อนวัย และยังเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งอีกต่างหาก



ทั้งที่รู้ว่าการนอนเป็นสิ่งสำคัญ ในช่วงนึงวัยรุ่นคิดว่า ไม่ต้องนอนได้ก็คงจะดี แต่ธรรมชาติสร้างมาให้มีการนอนพักผ่อนเพื่อสุขภาพที่ดี มีแรงในวันถัดไป ตอนวัยรุ่นยังไม่ส่งผลเนื่องจากเซลต่างๆ ยังคงสดใหม่ ซ่อมแซมได้เร็ว และยังไม่เสื่อมสภาพ จนปัจจุบัน อายุย่างเข้าเลขสี่ ส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพ และแน่นอนว่า อาจจะส่งผลถึงคนรอบข้างอย่างไม่ตั้งใจอีกด้วย ดังนั้น มาดูข้อควรรู้ สำหรับการนอนผิดเวลา ว่าส่งผลกระทบยังไง และตารางเวลาของคนเรามีอะไรบ้าง ถ้าปรับให้ตรงได้ พ่วงกับการกิน การออกกำลังกาย สุขภาพก็จะดี ส่วนตัวเอง ก็จะพยายามปรับกลับมาให้ได้เลยล่ะ

บทความข้างท้ายนี้ทั้งหมด มาจากเพจ นานาสาระเพื่อสุขภาพที่ดี ซึ่งรวบรวมมาจากอีกหลายแหล่ง


การนอนผิดเวลาส่งผลกระทบสุขภาพรุนแรง

คณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซอร์เรย์ ประเทศอังกฤษ ค้นพบผลกระทบรุนแรงอันเกิดจากการนอนผิดเวลาในช่วงเวลากลางคืน พฤติกรรมดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการทำงานของยีนส์ในร่างกายมากกว่า1000ยีนส์

ยีนส์หลายตัวในจำนวนนี้เป็นยีนส์ที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของร่างกายให้เป็นไปตามปกติ คือการป้องกันและซ่อมแซมเซลล์ที่สึกหรอในระหว่างเวลากลางคืนนั่นเอง

งานวิจัยดังกล่าวช่วยคลี่คลายให้ทราบว่าเพราะเหตุใดผู้ที่นอนผิดเวลาอยู่เป็นประจำ จึงมีภูมิคุ้มกันที่ถดถอย ร่างกายอ่อนแอ สมาธิสั้น ความทรงจำ ตลอดจนเซลล์เสื่อมสภาพเร็ว

โดยปกติตามธรรมชาตินั้นยีนส์หลายร้อยตัวในร่างกาย จะทำหน้าที่ของมันตามจังหวะเวลาของการตื่นและการหลับอย่างสม่ำเสมอ ที่เรียกกันว่า"นาฬิกาชีวภาพ"ในร่างกายคนเรานั่นเอง ร่างกายมนุษย์ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อทำงานเวลากลางคืน

ธรรมชาติสร้างศูนย์การควบคุมการนอนหลับของมนุษย์อยู่ที่สมอง อยู่ภายในส่วนที่เรียกว่าไฮโปทาลามัส(Hypothalamus) ศูนย์เหล่านี้เองที่ทำหน้าที่เป็น"นาฬิกาประจำตัว" ที่ควบคุมเวลานอนหลับและเวลาตื่นนอนของเรา

่ช่วงเวลาการนอนหลับพักผ่อนที่เหมาะสมตามโครงสร้างทางสรีรศาสตร์ของมนุษย์นั้น ควรเป็นช่วงเวลาหัวค่ำ ไม่ควรเกิน22.00น. และการตื่นนอน ควรเป็นช่วงเวลาเช้าตรู่ก่อนตะวันขึ้น และการนอนควรหลับลึกยาวต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า5ชม. ไม่ใช่เดี๋ยวหลับเดี๋ยวตื่น

จากการเก็บตัวอย่างเลือดของกลุ่มตัวอย่างที่เป็นคนหนุ่มสาวอยู่ในช่วงอาย22-29ปีุพบว่า
ก่อนการทดลองกลุ่มตัวอย่างมีกิจกรรมของยีนส์รวม1396ตัวที่ทำหน้าที่ตามปกติเป็นไปตาม"นาฬิกาชีวภาพ"ในร่างกายของคนที่มีสุขภาพดี

แต่หลังจากที่ให้กลุ่มตัวอย่างทดลองนอนผิดเวลาแม้เพียงแค่3วัน ผลปรากฏว่ามียีนส์เพียง40เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ยังคงทำหน้าที่ตามปกติ ยีนส์นอกนั้นอีกกว่าครึ่งเริ่มทำหน้าที่อย่างผิดปกติ โดยบางส่วนลดทอนกิจกรรมลง และบางส่วนก็เพิ่มกิจกรรมหนักขึ้น ไม่คงที่อย่างก่อนหน้านั้น และยิ่งนอนผิดเวลาบ่อยขึ้น จำนวนยีนส์ที่ทำกิจกรรมปกติก็จะยิ่งลดน้อยลงไปอีกเรื่อยๆ

งานวิจัยนี้สอดคล้องกับงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกาที่ทดลองกับกลุ่มตัวอย่างทั้งในวัยหนุ่มสาว และวัยกลางคน ผลวิจัยอธิบายว่า การนอนผิดเวลาทำให้การทำงานของระบบต่อมไร้ท่อต่างๆผิดปกติ มีผลให้การผลิตฮอร์โมนที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆผิดปกติไปด้วย

นอกจากนั้นยังมีข้อค้นพบที่เพิ่มเข้ามา คือ การทำงานผิดปกติของยีนส์อันเนื่องมาจากการนอนผิดเวลายังส่งผลกระทบให้การออกฤทธิ์ยาบางอย่างไม่ได้ผล หรือได้ผลน้อยกว่าที่ควร โดยเฉพาะกลุ่มยาที่ให้รับประทานก่อนนอน ซึ่งยาเหล่านี้จะทำงานได้ผลดีในตอนกลางคืน เพราะเอ็นไซม์ที่เป็นเป้าโจมตีของยาจะหลั่งออกมามากในตอนกลางคืน แต่ยาจะไม่ได้ผลหรือให้ผลน้อยลง ถ้าหากว่าผู้รับประทานยานั้นนอนผิดเวลา เพราะเอ็นไซม์ไม่ได้หลั่งออกมาตามปกติอีกต่อไป

ที่สำคัญคือ การตื่นยาวนานในเวลากลางคืนหรือการนอนดึกบ่อยๆ จะทำให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะชราภาพเร็วขึ้น ซึ่งบางทีดูจากภายนอกอาจไม่ปร่กฏชัดเจนนัก แต่เซลล์ภายในเสื่อมสภาพเร็วมาก เนื่องจากภาวะดังกล่าวส่งผลกระตุ้นยีนส์ที่ทำให้เกิดการชราภาพ ทำงานมากขึ้น ทำให้คนเราแก่เร็วกว่าที่ควรจะเป็น

ขอขอบคุณข้อูลจาก ชมรมรักษ์สุขภาพ


ตารางเวลา-นาฬิกาชีวิต

 

นาฬิกาชีวภาพ (นาฬิกาชีวิต)

เหตุใดระบบการทำงานในร่างกายคนเราถึงทำงานได้เป็นเวลาคล้ายมีโปรแกรมตั้งเวลาระบบไว้ ที่ทำเช่นนี้ได้เพราะในร่างกายมีนาฬิกาชีวิตหรือนาฬิกาชีวภาพ (biological clock) ตั้งอยู่ที่ suprachiasmatic nucleus(SCN)ของสมอง ไฮโพธาลามัส ทำหน้าที่บริหารระบบในร่างกายให้ทำงานสอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมของธรรมชาติ เพราะสิ่งมีชีวิตและธรรมชาติมีปฏิสัมพันธ์กันตลอดเวลา ประกอบกับ ธรรมชาติไม่หยุดนิ่ง มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นผลมาจากโลกหมุนรอบตัวเองและรอบดวงอาทิตย์ ทำให้โลกอยู่ภายใต้อิทธิพลของแสงจากดวงอาทิตย์ เกิดเป็นวงจรของวัน(circadian rhythm) ใช้ระยะเวลา 24 ชั่วโมงต่อการหมุนรอบตัวเองของโลก 1 รอบ แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงมืด(กลางคืน) กับช่วงสว่าง(กลางวัน) ส่งผลให้สิ่งมีชีวิตจะต้องปรับสภาวะร่างกายให้ทำงานสอดคล้องกับวงจรของวันใน ธรรมชาติ มิเช่นนั้นแล้วจะทำให้มีอายุขัยสั้นลง

ด้วยเหตุนี้นาฬิกาชีวภาพของคนจึงทำงานเป็นวงจรและใช้ระยะเวลา 24 ชั่วโมงเช่นกัน โดยมี 2 ช่วง คือ ช่วงมืด กับช่วงสว่าง

สำหรับช่วงสว่าง แสงจะกระตุ้น SCN โดยอาศัยตัวรับแสง(melanopsin) ซึ่งอยู่ ที่เรตินา(จอตา) กับที่เส้นใยประสาท retinohypothalamic tract

ส่วนช่วงมืด(กลางคืน) ต่อมไพเนียลของสมองจะหลั่งเมลาโทนิน(melatonin) มากระตุ้น SCN เมื่อ SCN ถูกกระตุ้นก็จะส่งสัญญาณผ่านระบบประสาทและฮอร์โมนไปควบคุมการทำงานของอวัยวะ และต่อมต่างๆ เพื่อให้สภาวะร่างกายดำเนินไปอย่างสอดคล้องกับวงจรของวันในธรรมชาติ ซึ่งได้แก่ อุณหภูมิของร่างกาย, ความดันเลือด, การเต้นของหัวใจ และวงจรการหลับ-ตื่น

เมลาโทนินเป็นฮอร์โมนที่มีบทบาทสำคัญต่อร่างกายมาก โดยชักนำให้เกิดการนอนหลับ ปรับการทำงานของนาฬิกาชีวภาพ ช่วยชะลอความแก่ และป้องกันการเกิดเซลล์มะเร็ง
แต่เมลาโทนินจะถูกหลั่งออกมาในช่วงกลางคืนเท่านั้น เนื่องจากถูกยับยั้งโดยแสง แม้แสงจะมีความเข้มต่ำเพียง 0.1 ลักซ์(เทียบได้กับแสงในคืนพระจันทร์เต็มดวง) ก็ส่งผลให้ร่างกายหลั่งเมลาโทนินน้อยลงได้

ปัจจัยที่ทำให้นาฬิกาชีวภาพทำงานผิดปกติ ได้แก่ พฤติกรรมการใช้ชีวิต (เช่น การนอนไม่เป็นเวลา นอนดึก) ความชรา และโรคบางชนิด เช่น อัลไซเมอร์ มะเร็ง พาร์คินสัน โรคทางจิตเภท (schizophrenia) โรคซึมเศร้า เป็นต้น โดยเซลล์ประสาทใน SCN จะหลั่ง vasopressin ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ควบคุมสมดุลน้ำและเกลือแร่ในร่างกายและยังส่งผลไปควบคุมสภาวะร่างกาย เช่น อุณหภูมิของร่างกาย การตื่นตัว/ความกระฉับกระเฉง เมื่อคนเรามีอายุมากขึ้น vasopressinและเมลาโทนินจะถูกหลั่งออกมาน้อยลง ส่งผลให้นาฬิกาชีวภาพทำงานผิดปกติ คนชราจึงมีอาการต่างๆ เช่น นอนไม่ค่อยหลับ ใช้ระยะเวลาให้เริ่มหลับนาน ระยะเวลานอนหลับสั้นลง นอนหลับไม่ลึก และเข้านอนเร็ว ทั้งนี้เป็นเพราะตัวรับแสงและตัวรับสัญญาณอื่นๆ ในร่างกายเสื่อมสภาพลง

ส่วนผู้ที่มีอาการอ่อนเพลียจากการเดินทางเป็นเวลานาน (jet lag) ร่างกายจะต้องปรับการทำงานของนาฬิกาชีวภาพใหม่ ซึ่งอาจใช้เวลาหลายวันหรือหลายสัปดาห์ จึงเกิดอาการสะดุ้งตื่นขึ้นมากลางดึก ขณะที่นาฬิกาชีวภาพของผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะทำงานช้าลง ทำให้ช่วงเวลาที่อุณหภูมิของร่างกายลดลงต่ำสุดแตกต่างจากคนปกติ คือ จะลดลงในช่วง 9.00 น. ถึงช่วงเย็น แทนที่จะลดลงในช่วง 4.00 – 5.00 น. เหมือนคนปกติ ทำให้ตารางเวลาชีวิตเปลี่ยนไป

โดยช่วงกลางคืนจะมีภาวะวิตกเครียดและนอนไม่หลับ จึงลุกขึ้นมาทำกิจกรรมและนอนหลับในช่วงกลางวันหรือช่วงเย็นแทน

สำหรับผู้ป่วยโรคจิตเภท นาฬิกาชีวภาพจะทำงานเร็วผิดปกติ ผู้ป่วยจะนอนหลับไม่สนิทเนื่องจากมีภาวะรบกวนขณะหลับ โดยพบว่า 40-65% ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักจะนอนไม่หลับขั้นรุนแรง คาดว่าเป็นผลมาจากการนอนหลับในช่วงเย็น ทำให้เวลาเข้านอนดึก หลังเวลา 2.00 – 3.00 น. ร่างกายจึงไม่หลั่งหรือหลั่งเมลาโทนินออกมาน้อย

ดังนั้น ในขณะนอนหลับจึงไม่ควรเปิดไฟทิ้งไว้ เพราะมีผลไปยับยั้งการหลั่งเมลาโทนิน และไม่ควรรนอนหลับในช่วงเย็นเพราะจะทำให้ช่วงเวลาเข้านอนต้องเลื่อนออกไป

การแพทย์จีนได้ใช้ทฤษฎี หยิน-หยาง อธิบายความสัมพันธ์ 2 ด้านที่ต่อต้าน/ตรงกันข้ามกัน แต่มีความเกี่ยวเนื่องควบคุมและสัมพันธ์กันตลอดเวลา โดย หยิน หมายถึง เย็น/ร่ม การหยุดนิ่ง กลางคืน ส่วนหยาง หมายถึง ร้อน/สว่าง กลางวัน การเคลื่อนไหว

ดังนั้นหยิน-หยางจึงเปรียบได้กับสภาวะธรรมชาติ ซึ่งมีทั้งกลางวันและกลางคืน และเปรียบได้กับอวัยวะต่างๆ ในร่างกายที่ทำงานเชื่อมโยงกันและสอดคล้องกับวงจรของวันโดยแต่ละช่วงเวลาจะ มีอวัยวะบางชนิดหรือบางระบบในร่างกายที่ต้องทำงานหนัก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า อวัยวะอื่นๆ จะหยุดทำงาน อวัยวะทั้งหมดยังคงทำงานเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันตลอดเวลา

ความสัมพันธ์ระหว่างอวัยวะ(ระบบ)ของร่างกายกับช่วงเวลาในวงจรของวัน

 
เวลา 3.00 – 5.00 น. เป็นช่วงเวลาของปอด เพื่อให้ระบบหายใจได้ทำงานได้เต็มที่ และเซลล์ต่างๆ ได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะที่สมอง สมองที่ได้รับออกซิเจนน้อยหรือไม่เพียงพอจะมีผลความจำของคนเราเสื่อมลงได้
และช่วง 4.00 – 5.00 น เป็นช่วงที่อุณหภูมิของร่างกายลดลงต่ำสุด ร่างกายควรได้รับความอบอุ่น หลีกเลี่ยงสภาวะอากาศเย็น ช่วงนี้จึงเหมาะต่อการตื่นนอนเพื่อรับอากาศบริสุทธิ์และออกกำลังกาย เพื่อช่วยให้ปอดทำงานดีขึ้น สำหรับคนที่ระบบหายใจหรือปอดมีปัญหา หายใจติดขัด ไอ จาม มีน้ำมูก โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยเป็นโรคหอบต้องระวังสุขภาพ เพราะช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่อาการกำเริบได้ง่าย
เวลา 5.00 – 7.00 น. เป็นช่วงเวลาของลำไส้ใหญ่ เพื่อขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย และมีการหลั่ง cortisol เพื่อช่วยให้ร่างกายกระปรี่กระเปร่า ช่วงนี้จึงควรดื่มน้ำเพื่อกระตุ้นระบบขับถ่าย และตั้งแต่ช่วงนี้เป็นต้นไปจนถึงช่วงหัวค่ำ ความดันเลือดในร่างกายจะค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้น สำหรับคนที่มีสุขภาพอ่อนแอ จะมีอาการคัดจมูก มีน้ำมูก หายใจติดขัด โดยเฉพาะคนที่เป็นโรค หืดควรระวังอาการกำเริบ
เวลา 7.00 – 9.00 น. เป็นช่วงเวลาของกระเพาะอาหาร เนื่องจากร่างกายต้องการพลังงาน ดังนั้นจึงควรรับประทานอาหารมื้อเช้า สำหรับผู้ป่วยเป็นโรคไมเกรน ภูมิแพ้ ไขข้ออักเสบรูมาทอยด์ ช่วงเวลานี้ควรระวังอาการกำเริบได้
เวลา 9.00 – 11.00 น. เป็นช่วงเวลาของม้ามและตับอ่อน โดยม้ามทำหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย กำจัดเม็ดเลือดแดงที่เสื่อมสภาพ ส่วนตับอ่อนจะผลิตเอนไซม์มาช่วยย่อยอาหารที่ลำไส้เล็ก ร่างกายช่วงนี้จะมีความตื่นตัวมาก จึงเป็นช่วงที่เหมาะต่อการ ทำงาน/ทำกิจกรรม
เวลา 11.00 – 13.00 น. เป็นช่วงเวลาของหัวใจ ซึ่งเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุด ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดและสารอาหารไปเลี้ยงทั่วร่างกาย ช่วงนี้ระดับความดันเลือดในร่างกายยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ดัง นั้นคนที่หัวใจผิดปกติ ช่วงนี้จะมีเหงื่อออกมากและรู้สึกร้อน อบอ้าว
เวลา 13.00 – 15.00 น. เป็นช่วงเวลาของลำไส้เล็ก ทำหน้าที่ย่อยและดูดซึมอาหาร หากมื้อกลางวันไม่รับประทานอาหารหรือรับประทานอาหารไม่เพียงพอ ช่วงนี้จะรู้สึกหิวและทรมาน
เวลา 15.00 – 17.00 น. เป็นช่วงเวลาของกระเพาะ ปัสสาวะ ซึ่งทำหน้าที่เก็บน้ำกรองจากไต โดยช่วง 17.00 น. เป็นช่วงที่หลอดเลือดหัวใจและกล้ามเนื้อในร่างกายมีความแข็งแรง จึงเหมาะต่อการออกกำลังกาย
เวลา 17.00 – 19.00 น. เป็นช่วงเวลาของไต เพื่อกรองของเสียออกจากเลือดและรักษาสมดุลในร่างกาย ช่วง 18.30 น. ระดับความดันเลือดจะเพิ่มขึ้นสูงสุด และ ช่วงนี้จึงควรดื่มน้ำสะอาด (ไม่ควรดื่มน้ำเย็น) และไม่ควรนอนหลับในช่วงนี้ เพราะจะทำให้นอนไม่หลับในช่วงกลางคืน
เวลา 19.00 – 21.00 น. เป็นช่วงเวลาของเยื่อหุ้มหัวใจ ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของหัวใจ และเป็นช่วงของระบบหมุนเวียนโลหิต โดยช่วง 19.00 น. อุณหภูมิในร่างกายจะเพิ่มขึ้นสูงสุด ผู้ป่วยเป็นโรคผิวหนัง ช่วงนี้ควรระวังอาการกำเริบ
เวลา 21.00 – 23.00 น. เป็นช่วง เวลาของระบบทั้ง 3 (triple heater) ได้แก่ ระบบหายใจ ส่งผลต่อร่างกายช่วงบน(หัวใจ-ปอด) ระบบย่อยอาหารมีผลต่อช่วงกลางลำตัว(กระเพาะ อาหาร ม้าม ตับ) และระบบขับถ่ายมีผลต่อร่างกายช่วงล่าง(ไต กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้เล็ก) เป็นช่วงที่ร่างกายปรับสมดุลความร้อนและเป็นช่วงที่อุณหภูมิในร่างกายจะค่อยๆ ลดลง การขับถ่ายอุจจาระจะหยุดพักชั่วคราว ร่างกายจะเริ่มหลั่งเมลาโทนิน ช่วงนี้จึงเป็นช่วงที่ควรนอนหลับพักผ่อน
เวลา 23.00 – 1.00 น. เป็นช่วงเวลาของถุงน้ำดี เพื่อเก็บน้ำดีที่ได้จากตับและส่งน้ำดีมาช่วยย่อยไขมันที่ลำไส้เล็ก ถุงน้ำดีและตับ จึงเป็นอวัยวะที่ทำงานเกี่ยวเนื่องและสัมพันธ์กันอย่างมาก
เวลา 1.00 – 3.00 น. ช่วงเวลาของตับ เพื่อกำจัดสารพิษในร่างกาย ลดระดับน้ำตาลในเลือดโดยนำมาสังเคราะห์และเก็บสะสมในรูปไกลโคเจน และสร้างน้ำดีมาเก็บไว้ที่ถุงน้ำดี ช่วงนี้ควรเป็น ช่วงที่หลับสนิทเพื่อให้เลือดไหลเวียนมาที่ตับได้ดี เนื่องจากเวลา 2.00 น ร่างกายจะหลั่งเมลาโทนินได้สูงสุด การนอนไม่หลับ เครียด ได้รับสารพิษ หรือรับประทานอาหารหวานจัด จะส่งปัญหาถึงตับ สำหรับคนที่เป็นโรคหัวใจ ช่วงนี้อาจทำให้อาการกำเริบและหัวใจล้มเหลวได้
ทีนี้ลองพิจารณาพฤติกรรมการใช้ชีวิตของตัวเราสิว่า สอดคล้องกับตารางเวลาของนาฬิกาชีวิตหรือไม่? เพราะโรคบางโรค อาจมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเรา



สรุปช่วงเวลา ระบบที่เกี่ยวข้อง ข้อควรปฏิบัติ
01.00 – 03.00 น. [ตับ] นอนให้หลับสนิท
03.00 – 05.00 น. [ปอด] ตื่นนอน สูดอากาศบริสุทธ์
05.00 – 07.00 น. [ลำใส้ใหญ่] ขับถ่ายอุจจาระ
07.00 – 09.00 น. [กระเพาะอาหาร] กินอาหารเช้า
09.00 – 11.00 น. [ม้าม] พูดน้อย กินน้อย ไม่นอนหลับ
11.00 – 13.00 น. [หัวใจ] หลีกเลี่ยงความเครียดทั้งปวง
13.00 – 15.00 น. [ลำไส้เล็ก] งดกินอาหารทุกประเภท
15.00 – 17.00 น. [กระเพาะปัสสาวะ] ทำให้เหงื่อออก(ออกกำลัง)
17.00 – 19.00 น. [ไต] ทำให้สดชื่น ไม่ง่วงเหงา
19.00 – 21.00 น. [เยื่อหุ้มหัวใจ] สวดมนต์ ทำสมาธิ
21.00 – 23.00 น. [ระบบความร้อนของร่างกาย] ทำร่างกาย
ให้ อบอุ่น
23.00 – 01.00 น. [ถุงน้ำดี] ดื่มน้ำก่อนเข้านอน



ที่มา
1. อรพินทร์ เชียงปิ๋ว. นาฬิกาชีวภาพ. วารสารวิทยาศาสตร์. 2550;1:47-54
2. Archive for the organ and channel category. [online] [cited 2008 Sep] Available from:http://acupunctureiseasy.com/category/organ-and-channels/
3. Coturnix. Circadian quackery. [online] [cited 2008 Sept] Available from:http://scienceblogs.com/clo…/2005/…/circadian_quackery_1.php
4. Kraft U. Rhythm and blues. Sci Am. 2007;18:62-5
5. Lewith GT. The basic principles of chinese traditional medicine. [online] [cited 2008 Sep] Available from:http://www.healthy.net/scr/article.asp?id=1707
6. Nadu T. Clock theory for human organs. [online] 2006[cited 2008 Sep] Available from:http://www.hinduonnet.com/thehindu/thscrip/print.pl…
7. Phillips RH. Chinese Time Clock & VidaCell. [online] 2007[cited 2008 Sep] Available from:http://www.avalonhealthinfo.com/…/Chinese-Time-C…/Page1.html
8. Wright K. Time of our lives. Sci Am. 2006;16:27-33
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://บ้านสุขภาพล้างพิษตับ.blogspot.com/…/…/body-cloak.html
Tags

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น

buttons=(Accept !) days=(20)

Our website uses cookies to enhance your experience. Learn More
Accept !